สารแพคติน
สารแพคติน
แพคตินเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพ หรือพอลิเมอร์ธรรมชาติ ที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมาช้านานโดยใช้เป็นสารเพิ่มความข้นหนืด สารก่อเจล ในผลิตภัณฑ์แยม เจลลี่ และสารเพิ่มความคงตัวของระบบคอลลอยด์ในเครื่องดื่มน้ำผลไม้และผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายเยลลี่ ในช่สง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมามีการนำแพคตินมาใช้ในทางเภสัชกรรมและอุตสาหกรรมยาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแพคตินมีสมบัติเฉพาะที่ทำให้สามารถนำมาใช้เก็บกักหรือนำส่งยา โปรตีน และเพปไทด์ เป็นต้น และจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารที่ไม่ถูกย่อยโดยเอนไซม์ในระบบการย่อยของร่างกายมนุษย์ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักโภขนาการมากขึ้น เพราะจากการวิจัยให้ผลออกมาว่า อาหารที่ให้ไฟเบอร์สูงจะช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ หรือในทางกลับกันคนที่กินอาหารที่มีไฟเบอร์น้อยก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆได้ง่ายขึ้น
ปริมาณของแพคตินที่มีอยู่ในพืชผักผลไม้
ชนิดพืช ประมาณแพคติน
ถั่วลิสง 5.98%
ส้มเช้ง 3.90%
ถั่วเหลือง 3.45%
มะนาว 2.90%
ส้ม 2.36%
แครอท 2.00%
ฟักทอง 1.24%
กระเทียม 1.11%
กล้วย 0.94%
มัน 0.83%
แอปเปิ้ล 0.78%
สตรอเบอรรี่ 0.75%
ถั่วเขียว 0.70%
หัวหอม 0.35%
มะเขือเทศ 0.20%
องุ่น 0.19%
แตงโม 0.18%
แตงกวา 0.16%
สัปปะรด 0.09%
พริกเขียว 0.09%
ในปัจจุบันการใช้เส้นใยอาหารเป็นอาหารสเริมสุขภาพมีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารทั้งแง่วิชาการและสื่อโฆษณาเกี่ยวกับประโยชน์ในเชิงสุขภาพและการแพทยฺของเส้นใยอาหารเพิ่มมากขึ้น นอกจากเส้นใยอาหารจำพวกรำข้าวและเซลลูโลสแล้ว แพคตินก็จัดว่าเป็นเส้นใยอาหารที่ชนิดที่ละลายน้ำได้แต่ไม่ถูกย่อยโดยเอนไซม์ในทางเดินอาหาร แพคตินเป็นส่วนประกอบหลักในเส้นใยอาหารที่ได้จากพืชและผลไม้ส่วนใหญ่
พืชสกุลส้มเป็นแหล่งที่มีแพคตินปริมาณมากซึ่งพบได้ในส่วนที่รับประทานได้และส่วนที่รับประทานไม่ได้ เช่น เปลือก กาก และแกน ในการศึกษาเกี่ยวกับเส้นใยอาหารที่ได้จากพืชสกุลล้มมักใช้แพคตินบริสุทธิ์มากกว่าการใช้เปลือกหรือกากผลแห้ง อย่างไรก็ตามการบริโภคผลไม้จำพวกส้มช่วยเพิ่มประมาณแพคตินในอาหารอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการผลิตแพคตินสกัดชนิดเข้มข้นที่ได้จากเปลือกส้มซึ่งเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมผลิตน้ำผลไม้ก็ตาม
การนำเอาแพคตินผสมร่วมในสูตรอาหารมีผลต่อกระบวนการเมแทบอลิซึ่มและการย่อย เช่น ผลต่อการดูดซึมกลูโคส ผลต่อระดับคอเลสเตอรอล มีการศึกษาจำนวนมากทั้งในสัตว์และในมนุษย์ที่แสดงถึงประสิทธิภาพของแพคตินที่รับประทานในการลดอัตราการใช้น้ำตาลและการผลิตอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน(เบาหวานชนิดที่ 2) ซึ่งโดยปกติจะทำการรักษาโดยการควบคุมอาหารเป็นอันดับแรก นอกจากนั้นการนำเอาแพคตินผสมร่วมในสูตรอาหารยังสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลได้ ทั้งนี้ขึ้นกับระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่เป็นอยู่เดิมและอาหารที่รับประทานเป็นประจำ นอกจากนั้นแพคตินยังยังมีผลการยับยั้งการแพร่กระจายของเซลมะเร็งและมีผลต่อการควบคุมน้ำหนักตัวแต่ไม่มีผลรบกวนการดูดซึมแร่ธาตุในร่างกาย
การใช้แพคตินในขนาดสูงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ซึ่งต้องให้ความสำคัญและศึกษาเพิ่มเติมต่อไป การใช้แพคตินเป็นสารสำคัญในตำรับยาเพื่อรักษาอาการท้องเสียโดยแพคตินช่วยกระตุ้นการเจริญของเนื้อเยื่อบุผิวในลำไส้ใหญ่หรือไปลดการยึดติดเยื่อบุผิวในลำไส้ใหญ่ของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค การใช้แพคตินร่วมกับยาอื่นต้องระมัดระวังเนื่องจากแพคตินสามารถเกิดกิริยากับตัวยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่มีประจุบวกหรือแพคตินอาจดูดซับตัวยาไว้ทำให้ตัวยาออกฤทธิ์ไม่เต็มประสิทธิภาพ
Credit: http://th.wikipedia.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น